วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ติดต่อสื่อสาร ค้นหาข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต(เทอม2)

ติดต่อสื่อสาร ค้นหาข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต (เทอม2)

การติดต่อสื่อสาร ค้นหาข้อมูลและความรู้ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต


ความหมายของอินเทอร์เน็ต
อินเทอร์เน็ต (Internet) คือ เครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกันจำนวนมากและครอบคลุมไปทั่วโลก เครือข่ายนี้เชื่อมเข้าหากันภายใต้กฎเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน (TCP/IP) ทำให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลและส่งผ่านข้อมูลระหว่างกันได้
ประวัติความเป็นมา
ปี 2512 กระทรวงกลาโหมสหรัฐให้ทุนมหาวิทยาลัยศึกษาวิธีการเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์เข้า เป็นเครือข่าย เรียกว่า อาร์ปาเน็ต (Arpanet)
ปี 2524 มหาวิทยาลัยทุกแห่งในสหรัฐเชื่อมโยงเข้าสู่เครือข่าย แล้วเปลี่ยนชื่อมาเป็นอินเทอร์เน็ต
ปี 2532 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้เชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อส่ง E-mail กับประเทศออสเตรเลีย



บริการในระบบอินเทอร์เน็ต

– ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Mail : E-mail) เป็นบริการรับ-ส่งจดหมายและแนบไฟล์ภาพหรือเอกสารผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ที่รวดเร็ว สามารถติดต่อกันได้ทั่วโลก โดยผู้ใช้งานจะต้องมีที่อยู่อีเมลล์ หรือ E-mail Address
– การถ่ายโอนข้อมูล (File Transfer Protocol: FTP) เป็นบริการถ่ายโอนแฟ้มข้อมูลข่าวสาร บทความจากคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งไปสู่อีกเครื่องหนึ่ง การโอนย้ายแฟ้มข้อมูลจากคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นมาลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ของ เรา เรียกว่า การดาวน์โหลด (Download) ส่วนการนำแฟ้มข้อมูลจากเครื่องคอมพิวเตอร์เราไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องอื่น เรียกว่า การอัพโหลด (Upload)
– การเรียกใช้งานบนเครื่องคอมพิวเตอร์อื่น (Telnet) เป็นบริการที่ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นๆในที่ห่างไกล โดยไม่ต้องเดินทางไปถึงเครื่องคอมพิวเตอร์นั้นๆ
– ข่าวสาร (Usenet) เป็นบริการจัดเก็บข่าวสารที่ส่งไปไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เป็นศูนย์กลาง โดยที่ทุกคนสามารถเข้าไปอ่านข่าวสาร มีการจัดกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนทัศนะ และแสดงความคิดเห็นในหัวข้อต่างๆ
– เวิล์ดไวด์เว็บ (World-Wide-Web : WWW) เป็นบริการเครือข่ายที่เชื่อมโยงแหล่งข้อมูลข่าวสารเข้าหากัน และครอบคลุมทั่วโลก ลักษณะของข้อมูลที่สืบค้นได้จะเป็นเอกสารไฮเปอร์ลิงค์ ที่สร้างด้วยภาษาเอชทีเอ็มแอล (HTML) การเข้าถึงข้อมูลแต่ละแห่งจะเข้าไปยังโฮมเพจ (Homepage) และจะเชื่อมต่อไปยังเว็บเพจ (Webpage) อื่นๆได้อีก
– การสนทนาผ่านเครือข่าย (Chat) เป็นบริการการสนทนาแลกเปลี่ยนข้อมูล ข้อคิดเห็น ซึ่งสนทนาผ่านการพิมพ์ข้อความ,การรับ-ส่งแฟ้มข้อมูล,การสนทนาด้วยเสียง และการติดตั้งกล้องเว็บแคม เพื่อให้เห็นภาพคู่สนทนาด้วย
– ชุมชนออนไลน์ เป็นบริการเครือข่ายที่ผู้ใช้สามารถส่งข้อความถึงกัน ติดต่อสื่อสารกับกลุ่มเพื่อน แลกเปลี่ยนประสบการณ์และรูปภาพกันได้ เช่น เฟสบุ๊ค,ทวิสเตอร์,ไฮไฟว


การค้นหาข้อมูลความรู้ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

1. รูปแบบการค้นหาข้อมูลความรู้
1.1 การค้นหาความรู้จากที่อยู่ของข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต (Uniform Resource Locator : URL) เป็นการค้นหาข้อมูลความรู้โดยพิมพ์ที่อยู่ของข้อมูลที่ต้องการค้นหาลงในช่อง ที่กำหนด โดยผู้ค้นหาจะต้องทราบที่อยู่ของเว็บไซต์ก่อน
1.2 การหาข้อมูลโดยใช้ซอฟต์แวร์ค้นผ่านเว็บ (Web browser) มี 2 วิธี คือ
1.2.1 การสืบค้น (Browse) เป็นการเปิดดูเอกสารไปเรื่อยๆ ผ่านการเชื่อมโยง (Link)
1.2.2 การค้นหา (Search) โดยใช้ระบบโปรแกรมค้นหา (Search engine) โดยใช้คำสำคัญ (Keyword) ในการหาข้อมูล





เทคนิคในการหาข้อมูลโดยใช้ Search engine

1. บีบประเด็นให้แคบลง
2. ใช้คำที่ใกล้เคียงกัน
3. การใช้คำหลัก (Keyword)
4. หลีกเลี่ยงการใช้ตัวเลขโดยไม่จำเป็น
5. ใช้เครื่องหมาย + หรือ – ในการช่วยค้นหาข้อมูล

คุณธรรมและจริยธรรมในการใช้อินเทอร์เน็ต

1. ปฏิบัติตามกฎ กติกา และมารยาทที่แต่ละเว็บไซต์กำหนด
2. การใช้ E-mail ควรหมั่นลบจดหมายเพื่อให้พื้นที่ในการรับ-ส่งจดหมายมากขึ้น และไม่ควรส่งจดหมายลูกโซ่ไปสร้างความรำคาญใจให้ผู้อื่น
3. การแชตนั้น ควรสนทนากับผู้ที่ต้องการสนทนาด้วยเท่านั้น ควรใช้คำสุภาพและไม่ละเมิดเรื่องส่วนตัว
4. การใช้เว็บบอร์ด ห้ามพาดพิงสถาบันสำคัญ ห้ามเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลลามาอนาจาร
5. การใช้ข้อมูลของเว็บไซต์ทางอินเทอร์เน็ต ไม่ควรคัดลอกไปใช้ในเชิงธุรกิจและไม่ควรแอบอ้างข้อมูลของผู้อื่นไปเป็น ข้อมูลของตนเอง
6. การส่งไฟล์ข้อมูล ไม่ควรส่งไฟล์ข้อมูลที่มีกลุ่มซอฟต์แวร์ประสงค์ร้าย เช่น ไวรัส ไปให้ผู้อื่น

โดเมนเนม (Domain name)

โดเมนเนม หมายถึง ชื่อเว็บไซต์ ชื่อบล็อก ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งขึ้น เพื่อให้จดจำได้ง่าย เกิดจากการแปลงหมายเลขไอพีซึ่งประกอบไปด้วย ไอพีสาธารณะ (Public) และไอพีส่วนบุคคล (Private) ให้กลายเป็นชื่อโดเมน โดยโดเมนสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
    1. โดเมน 2 ระดับ เป็นโดเมนที่มีส่วนประกอบ 2 ส่วนหลัก คือ ชื่อโดเมนและประเภทของโดเมน เช่น Wikipedia.org เป็นต้น
ประเภทของโดเมน 2 ระดับ
1) .com บริษัทหรือองค์กรพาณิชย์
2) .org องค์กรเอกชนไม่แสวงหาผลกำไร
3) .net องค์กรที่เป็นเกตเวย์ หรือจุดเชื่อมต่อเครือข่าย
4) .edu สถาบันการศึกษา
5) .gov องค์กรทานทหาร
    2. โดเมน 3 ระดับ เป็นโดเมนที่มีส่วนประกอบ 3 ส่วนหลัก คือ ชื่อโดเมน,ประเภทโดเมน และประเทศ เช่น google.co.th เป็นต้น
ประเภทของโดเมน 3 ระดับ
1) .co บริษัทหรือองค์กรพาณิชย์
2) .ac สถาบันการศึกษา
3) .go องค์กรรัฐบาล
4) .net องค์กรให้บริการเครือข่าย
5) .or องค์กรเอกชนที่ไม่แสวงผลกำไร

คอมพิวเตอร์ช่วยสร้างชิ้นงาน(เทอม2)

การสร้างหนังสืออิเล็กทรอนิกส์
ด้วยซอฟต์แวร์ฟลิปอัลบัม (FlipAlbum)

       หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-Book ย่อมาจาก electronic Book) หมายถึง การนำหนังสือเล่มหนึ่งหรือหลายๆ เล่ม มาออกแบบใหม่ให้อยู่ในรูปแบบของอิเล็กทรอนิกส์ โดยปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลเหล่านั้นให้อยู่ในรูปแบบของตัวอักษร ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เสียง ลักษณะที่ตอบโต้กันได้ และการเชื่อมโยงแบบไฮเปอร์เทกซ์ สามารถทำบุ๊กมาร์กและหมายเหตุประกอบตามที่ผู้ใช้ต้องการได้ โดยอาศัยพื้นฐานของหนังสือเล่มเป็นหลัก
       ปัจจุบันการนำเสนอด้วยสื่อที่สร้างจากคอมพิวเตอร์ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนมีความหลากหลายในการนำเสนอด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ จนกระทั่งสามารถแทรกสื่อมัลติมีเดียเข้าไปในชิ้นงาน มีลูกเล่นที่น่าสนใจ การพัฒนา Multimedia e-Book มีซอฟต์แวร์ช่วยหลายตัว โดยซอฟต์แวร์ที่น่าสนใจคือ ฟลิปอัลบัม (FlipAlbum) โดยความสามารถของซอฟต์แวร์ที่ทำให้การนำเสนอสื่อออกมาในรูปแบบ 3D Page-Flipping interface และมีชื่อเรียกเฉพาะว่า ฟลิปบุ๊ก (FlipBook)
       ในการทำโครงงานโดยใช้คอมพิวเตอร์สร้างชิ้นงานนั้น ผู้จัดทำจำเป็นจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับหลักการทำโครงงาน ซึ่งรวมไปถึงซอฟต์แวร์ที่จะใช้ทำชิ้นงานว่าซอฟต์แวร์นั้นมีความสามารถในการสร้างชิ้นงานทางด้านใด เช่น นำเสนอ การออกแบบ การเขียนซอฟต์แวร์ เป็นต้น
       ฟลิปอัลบัม (FlipAlbum) เป็นอีกซอฟต์แวร์หนึ่งที่มีพัฒนาการเป็นที่นิยมใช้ในการสร้างสิ่งเพื่อแนะนำสินค้า ทำสมุดภาพ และอื่นๆอีกมากมาย และได้ถูกพัฒนานำมาสร้างเป็นบทเรียนสำเร็จรูปในแบบของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่รองรับกาสร้างข้อความภาษาไทยได้ดี ใช้ได้กับไฟล์รูปภาพมาตรฐานหลายนามสกุล รวมถึงไฟล์ภาพยนตร์ด้วย
        รองรับไฟล์มัลติมีเดียได้หลากหลาย เช่น GIF, JPG, BMP, WMF, IVO, PCX, TIF, PCD, OEB Package Format (OPF) ไฟล์เสียง เช่น MID, WAV, MP3 และไฟล์วิดีโอ เช่น AVI, MPG เป็นต้น
        การเริ่มต้นใช้งานซอฟต์แวร์ฟลิปอัลบัม (FlipAlbum) เพื่อสร้างหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ผู้ใช้จะต้องเตรียมทั้งเนื้อหา รูปประกอบเนื้อหา ลื่อมัลติมีเดียต่างๆ เช่น ไฟล์รูป ไฟล์เสียงและภาพยนตร์ ซึ่งการสร้างงานนี้จะคล้ายกับการออกแบบสื่อเอกสารลักษณะหนังสือที่จะต้องพิจารณาด้านรูปแบบสีสัน ความเหมาะสมในแต่ลพหน้าเป็นหลักสำคัญ

การแก้ปัญหาด้วยกระบวนการเทคโนโลยีสารสนเทศ(เทอม2)

กระบวนการเทคโนโลยีสารสนเทศ
             กระบวนการเทคโนโลยีสารสนเทศ  เป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการบรรยาย  การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล  การประมวลผล  การจัดเก็บ  การจัดการหรือการกระทำกับข้อมูลข่าวสาร  โดยใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์สำนักงานต่าง ๆ  ในการปฎิบัติงาน  เพื่อให้ได้สารสนเทศหรือความรู้ที่นำมาใช้ในการตัดสินใจ  ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต  และเผยแพร่แก่ผู้อื่นได้เกิดความรู้ความเข้าใจร่วมกัน
             กระบวนการเทคโนโลยีสารสนเทศ  เพื่อให้ได้มาซึ่งสารสนเทศที่ดี  มีขั้นตอน ดังนี้
1.การรวบรวมข้อมูล  เป็นการนำข้อมูลที่ต้องการจากหลาย ๆ แหล่งข้อมูลมารวมกันด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น  การให้กลุ่มเป้าหมายช่วยตอบแบบสอบถามที่ตนเองคิดขึ้นมา  การอ่านรหัสแท่งจากแถบรหัสสินค้า  หรืออ่านข้อมูลจากการฝนดินสอลงในกระดาษคำตอบในการทำข้อสอบ  เป็นต้น
2.การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล  เป็นการนำข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ มาตรวจสอบและแก้ไขให้ถูกต้องด้วยการใช้สายตามนุษย์หรือตั้งกฎเกณฑ์ให้คอมพิวเตอร์ตรวจสอบ  เพื่อให้ได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ  เหมาะสำหรับนำมาใช้ประโยชน์ต่อไป
3.การประมวลผลข้อมูล  เป็นการนำข้อมูลที่ได้ตรวจสอบและแก้ไขให้ถูกต้องแล้วมาทำการประมวลผลด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น  จัดกลุ่ม  จัดเรียงตามตัวอักษร  และเปรีบเทียบหรือคำนวณข้อมูล  เพื่อให้ได้ผลสรุปที่เป็นสารสนเทศและนำไปใช้งานได้ 
4.การจัดเก็บ  เป็นการนำสารสนเทศที่ทำการประมวลผลแล้ว  มาจัดเก็บในหน่วยความจำของเครื่องคอมพิวเตอร์  หรือสื่อบันทึกชนิดอื่น ๆ เช่น  แผ่นซีดี  แผ่นดีวีดี  หน่วยความจำแบบแฟลซ(แฟลซไดรฟ์) เป็นต้น
5.การทำสำเนา  เป็นการนำสารสนเทศที่จัดเก็บไว้มาทำสำเนาเพื่อสำรองสารสนเทศไว้ใช้หากข้อมูลต้นฉบับเกิดการสูญหาย  และสามารถนำไปใช้ได้อย่างสะดวกรวดเร็วในโอกาสต่าง ๆ ซึ่งทำได้หลายวิธี  เช่น  การถ่ายเอกสารเก็บไว้ในแฟ้ม  การทำสำเนาลงในแผ่นซีดี  แผ่นดีวีดี  หรือหน่วยความจำแบบแฟรซ  เป็นต้น
6.การเผยแพร่สารสนนเทศ  เป็นการนำสารสนเทศไปแจกจ่ายให้ผู้อื่นได้มีความรู้ความเข้าใจและนำไปใช้ประโยชน์ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น  การเผยแพร่ลงเว็บไซต์สาธารณะ  กระดานสนทนา  ทำแผ่นพับหรือใบปลิว  ทำสำเนาลงในสื่อบันทึกข้อมูล  วางไว้ในสถานที่ที่หยิบง่าย  จัดป้ายนิเทศในบริเวณที่เป็นจุดสนใจหรืองานนิทรรศการ  เป็นต้น
การแก้ปัญหาด้วยกระบวนการเทคโนโลยีสารสนเทศ
การแก้ปัญหาด้วยกระบวนการเทคโนโลยีสารสนเทศ  เป็นการแก้ปัญหาอย่างมีขั้นตอน  โดยใช้กระบวนการเทคโนโลยีสารสนเทศและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์  เพื่อให้การปฎิบัติงานสะดวกรวดเร็ว  ถูกต้องและแม่นยำ  ในการใช้กระบวนการทางเทคโนโลยีสารสนเทศเข้าช่วยแก้ปัญหา  จำเป็นต้องปรับรูปแบบวิธีการทำงาน  ให้เหมาะสมกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
                วิธีแก้ปัญหาด้วยกระบวนการทางเทคโนโลยีสารสนเทศ  เป็นวิธีที่อาจคล้ายกับการแก้ปัญหาด้วยวิธีการอื่น ๆ   แต่มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในการแก้ปัญหา  หรือเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน  แต่ต้องมีการวิเคราะห์ปัญหาและศึกษาความเป็นไปได้ให้รอบคอบเสียก่อน  ทั้งนี้เนื่องจากเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบคอมพิวเตอร์ไม่ใช่เครื่องมือวิเศษที่จะแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง  นอกจากนี้  ยังจะต้องมีการศึกษาถึงความคุ้มค่าในการลงทุน  เพื่อไม่ให้เป็นการลงทุนที่สูญเปล่า  ต้องเลือกวิธีแก้ปัญหาให้เหมาะสมกับงาน  จัดหาเครื่องมือ  และเทคโนโลยีที่ไม่เกินจำเป็น
                การแก้ปัญหาด้วยกระบวนการเทคโนโลยีสารสนเทศ  เหมาะกับระบบงานที่ต้องทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งซ้ำซาก  และมีปริมาณงานมาก  หรืองานที่ต้องการความรวดเร็วในการคำนวณเกินกว่าคนธรรมดาจะทำได้  วิธีการโดยทั่วไปก็คือ  ปรับเปลี่ยนวิธีการหรือระบบการทำงานแบบเดิมมาใช้ระบบงานที่มีคอมพิวเตอร์ช่วย  ทำเป็นบางส่วนหรือทั้งหมด  เท่าที่สามารถจะทำแทนคนได้
                ดังนั้น  การแก้ปัญหาด้วยกระบวนการเทคโนโลยีสารสนเทศ  จึงต้องมีการสร้างระบบงานคอมพิวเตอร์ขึ้นมาช่วยทำงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ซึ่งโดยทั่วไปเราอาจไม่ต้องสร้างระบบงานทั้งหมดขึ้นใหม่  แต่พัฒนาระบบงานเดิมให้เป็นระบบงานที่ทำงานด้วยคอมพิวเตอร์  นิยมเรียกกันว่า  การพัฒนาระบบงานคอมพิวเตอร์(Computerization) นั่นเอง
ดังนั้น  การแก้ปัญหาในการทำงานในปัจจุบันที่มีขั้นตอนการทำงานที่ซ้ำซ้อน  ส่วนมากมักใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วย  เพื่อเพิ่มความสะดวก  รวดเร็ว  ถูกต้องแม่นยำ  และสามารถทำซ้ำได้ง่าย

หลักการแก้ปัญหาด้วยกระบวนการเทคโนโลยีสารสนเทศ
                การแก้ปัญหาด้วยกระบวนการเทคโนโลยีสารสนเทศ  มีหลักการสำคัญ คือ  ปัญหาทุกปัญหาต้องสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบหรือวิธีการให้เหมาะสม  โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าในการลงทุน  ด้านเวลา  ด้านแรงงาน  และค่าใช้จ่าย

การใช้คอมพิวเตอร์ในการแก้ปัญหา
                 การแก้ปัญหาด้วยกระบวนการเทคโนโลยีสารสนเทศ
                การใช้คอมพิวเตอร์ในการแก้ปัญหาร่วมกับกระบวนการเทคโนโลยีสารสนเทศ  สามารถทำได้โดยใช้ซอฟต์แวร์ประยุกต์ต่าง ๆ และการเขียนโปรแกรม  ดังรายละเอียดต่อไปนี้
                1.การใช้ซอฟต์แวร์ประยุกต์ในการแก้ปัญหา  เช่น ไมโครซอฟต์เวิร์ด  ไมโครซอฟต์เพาเวอร์พอยนต์  ไมโครซอฟต์เอกซ์เซล  ไมโครซอฟต์แอกเซส  ซอฟต์แวร์โปรเดสท็อบ  เป็นต้น  ซึ่งโปรแกรมต่าง ๆ เหล่านี้จะสามารถช่วยแก้ปัญหาในการทำงานได้  ดังนี้
                ซอฟต์แวร์ไมโครซอฟต์เวิร์ด(Microsoft Word)  ช่วยแก้ปัญหาในการจัดทำงานเอกสารต่าง ๆ เช่น  ช่วยให้การพิมพ์งานเอกสารทำได้รวดเร็วมากกว่าการใช้พิมพ์ดีดไฟฟ้า  มีการตรวจสอบการสะกดไวยากรณ์เพื่อป้องกันการพิมพ์ที่ผิดพลาด  สามารถลบคำผิดและปรับปรุงข้อความในเอกสารได้ง่ายและสะอาดเรียบร้อย  โดยไม่ต้องใช้น้ำยาลบคำผิด  แก้ปัญหาสิ้นเปลืองเวลาในการส่งจดหมายเวียนภายในองค์กรโดยพิมพ์จดหมายต้นแบบเพียงฉบับเดียวแล้วส่งไปให้ทุกหน่วยงานในองค์กรผ่านทางคอมพิวเตอร์แทนการถ่ายสำเนาเอกสาร  แล้วให้คนส่งเอกสารนำส่งทีละหน่วยงาน เป็นต้น


ซอฟต์แวร์ไมโครซอฟต์เอกซ์เซล(Microsoft Excel)  ช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับการคำนวณตัวเลข  จัดทำตารางข้อมูล  แผนภูมิและกราฟ  เช่น  การคำนวณตัวเลขหลายจำนวนในตารางข้อมูล  การใช้สูตรคำนวณแทนการใช้เครื่องคิดเลข  การจัดทำตารางข้อมูลให้สวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อย  การใช้ข้อมูลในตารางสร้างแผนภูมิแลกราฟได้อย่างง่ายดาย  ถูกต้องและแม่นยำ  เป็นต้น



            ซอฟต์แวร์ไมโครซอฟต์แอกเซส(Microsoft Access)  ช่วยแก้ปัญหาการจัดเก็บข้อมูล  โดยจัดเก็บข้อมูลจำนวนมากให้เป็นระเบียบเรียบร้อย  สะดวกต่อการค้นหาและนำมาใช้ 

           
            ซอฟต์แวร์ไมโคซอฟต์เพาเวอร์พอยนต์(Microsoft PowerPoint)  ช่วยแก้ปัญหาการนำเสนองาน  โดยทำให้การสร้างงานนำเสนอทำได้ง่าย  และน่าสนใจกว่าการนำเสนองานตามปกติที่ไม่ใช้คอมพิวเตอร์

             ซอฟต์แวร์โปรเดสท็อป (Pro/DESKTOP)  ช่วยแก้ปัญหาในการออกแบบและสร้างชิ้นงานจำลอง  โดยอำนวยความสะดวกในการออกแบบและสร้างชิ้นงานจำลองด้วยเครื่องมือต่าง ๆ ที่มีในซอฟต์แวร์ซึ่งมีความแม่นยำ  และทราบผลทันที  รวมถึงประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อวัสดุ  อุปกรณ์มาเขียนแบบหรือสร้างชิ้นงานจำลอง


2.การเขียนโปรแกรมเพื่อแก้ปัญหา  เป็นการใช้ความรู้ความสามารถด้านภาษาคอมพิวเตอร์และประสบการณ์การใช้งานคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ในด้านต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหา  ดังตัวอย่าง
ภาษาคอมพิวเตอร์
การใช้งาน
ภาษาฟอร์แทน(Fortran)
ใช้แก้ปัญหาด้านการคำนวณทางวิทยาศาสตร์  วิศวกรรมศาสตร์  และงานวิจัยต่าง ๆ
ภาษาโคบอล(COBOL)
ใช้แก้ปัญหาด้านงานธุรกิจ
ภาษาเบสิก(BASIC)
ใช้แก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ทุกสาขาวิชา  เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ใช่นักเขียนโปรแกรมอาชีพ  และผู้ฝึกเขียนโปรแกรมใหม่ ๆ
ภาษาปาสคาล(Pascal)
ใช้ในการเรียนเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์
ภาษาซีและซีพลัสพลัส(และ C++)
ใช้ในการเขียนโปรแกรมควบคุมการทำงานของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์  และเขียนโปรแกรมเชิงวัตถุ
ภาษาวิชวลเบสิก(Visual Basic)
ใช้สร้างโปรแกรมประยุกต์ที่ใช้งานได้หลากหลายบนระบบปฎิบัติการวินโดวส์  และใช้เป็นโปรแกรมแบบรูปภาพ  เช่น  ปุ่มคำสั่งต่าง ๆ
ภาษาจาวา(Java)
ใช้เขียนโปรแกรมประยุกต์สำหรับเชื่อมต่อเข้าสู่อินเทอร์เน็ต  และซอฟต์แวร์ที่ใช้ในอินเทอร์เน็ต
ภาษาเดลไฟ(Delphi)
ใช้ในการเขียนโปรแกรมเชิงจินตภาพเพื่อสร้างส่วนติดต่อผู้ใช้ที่เป็นแบบรูปภาพ  เช่น  ปุ่มคำสั่งต่าง ๆ

โปรแกรมเชิงวัตถุและโปรแกรมเชิงจินตภาพแตกต่างกันอย่างไร
                โปรแกรมเชิงวัตถุ  ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์  จะแยกงานออกเป็นส่วนย่อย ๆ เรียกว่าวัตถุ  เพื่อให้ง่ายต่อการเรียกใช้  โดยสามารถนำมาประกอบและรวมกันได้  แต่จะเห็นผลลัพธ์เมื่อพัฒนาซอฟต์แวร์เสร็จแล้ว  ในขณะที่โปรแกรมเชิงจินตภาพ  ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์สามารถมองเห็นผลลัพธ์ของงานได้ตั้งแต่เริ่มพัฒนาโปรแกรมโดยไม่จำเป็นต้องรอให้การพัฒนานั้นเสร็จสมบูรณ์
โปรแกรมเมอร์/นักเขียนโปรแกรม(Programmer)
                เป็นอาชีพที่ทำงานเกี่ยวกับการเขียนชุดคำสั่งของคอมพิวเตอร์  เพื่อใช้ในการทำงานและแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยต้องมีความรู้ความสามารถในเรื่องภาษาคอมพิวเตอร์และการใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์เป็นอย่างดี

วิธีการแก้ปัญหา
             มนุษย์ทุกคนต้องเคยพบกับปัญหา  ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านสุขภาพ  ปัญหาการเรียน  ปัญหาการทำงาน  ปัญหาครอบครัว  ซึ่งแต่ละคนก็มีวิธีการแก้ปัญหาแตกต่างกันไป  ตามความรู้ความสามารถ  และประสบการณ์  โดยใช้วิธีการแก้ปัญหาที่เคยศึกษาผ่านมาหรือเคยทดลองใช้แล้วประสบความสำเร็จ  เช่น  วิธีลองผิดลองถูก  วิธีการขจัด  วิธีการใช้เหตุผล  เป็นต้น  ซึ่งเมื่อพิจารณาอย่างละเอียดจะพบว่า  วิธีการแก้ปัญหาเหล่านี้ต่างมีขั้นตอนที่เหมือนกัน
    วิธีการแก้ปัญหาเป็นหนึ่งในขั้นตอนการประมวลผลของกระบวนการเทคโนโลยีสารสนเทศ  ซึ่งแบ่งได้   ขั้นตอน  ดังนี้
         1.การวิเคราะห์และกำหนดรายละเอียดของปัญหา  เป็นขั้นตอนการทำความเข้าใจกับปัญหา  เพื่อแบ่งแยกให้ชัดเจนโดยใช้คำถามต่อไปนี้
          ข้อมูลที่กำหนดมาในปัญหาหรือเงื่อนไขของปัญหาคืออะไร           เพื่อ         ระบุข้อมูลเข้า
          สิ่งที่ต้องการคืออะไร                                                                เพื่อ         ระบุข้อมูลออก
          วิธีการที่ใช้ประมวลผลคืออะไร                                                  เพื่อ         กำหนดวิธีการประมวลผล
ตัวอย่าง  การวิเคราะห์และกำหนดรายละเอียดของปัญหาเกี่ยวกับการหาพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้า
          ระบุข้อมูลเข้า       ®          ความกว้างและความยาวของสี่เหลี่ยมผืนผ้า
          ระบุข้อมูลออก      ®          พื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้า
          กำหนดวิธีการประมวลผล   ®      นำความกว้าง  และความยาวของสี่เหลี่ยมผืนผ้ามาหาพื้นที่โดยการคูณ
          2.การวางแผนในการแก้ปัญหาและถ่ายทอดความคิดอย่างมีขั้นตอน  เป็นขั้นตอนการจำลองความคิดในการแก้ปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อน  โดยผู้ที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาสามารถเข้าใจและปฎิบัติตามไปในแนวทางเดียวกัน  ซึ่งทำได้  2  รูปแบบ  ดังนี้
          2.1การใช้ข้อความหรือคำบรรยาย  เป็นการเขียนเค้าโครงแผนงานด้วยข้อความหรือคำบรรยายที่มนุษย์ใช้สื่อสารกันหรือภาษาคอมพิวเตอร์  เพื่อให้ทราบขั้นตอนการทำงานของการแก้ปัญหาแต่ละขั้นตอน  ดังตัวอย่าง
ตัวอย่าง  การวางแผนหาพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้าโดยใช้ข้อความหรือคำบรรยาย
เริ่มต้น
          1.กำหนดค่าความกว้าง
          2.กำหนดค่าความยาว
          3.คำนวณหาพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้าจากสูตร  กว้าง ยาว
          4.แสดงผลค่าพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้า
สิ้นสุด

2.2การใช้สัญลักษณ์  เป็นการใช้สัญลักษณ์รูปแบบต่าง ๆ มาเรียงต่อกันเป็นแผนภาพเพื่อสื่อสารให้ผู้ที่พบเห็นเข้าใจตรงกัน  ซึ่งสัญลักษณ์ที่กล่าวถึงนี้ได้กำหนดขึ้นโดยสถาบันมาตรฐานแห่งชาติอเมริกา (ANSI : The American National Standard Institute)  ดังตัวอย่าง

3.การดำเนินการแก้ปัญหา  เป็นขั้นตอนการลงมือแก้ปัญหาตามที่วางแผนไว้  โดยอาศัยซอฟต์แวร์ประยุกต์หรือใช้การเขียนโปรแกรมภาษาคอมพิวเตอร์เขียนโปรแกรมแก้ปัญหา  ซึ่งผู้แก้ปัญหาต้องศึกษาวิธีใช้ซอฟต์แวร์ประยุกต์หรือการเขียนโปรแกรมภาษาคอมพิวเตอร์ให้เข้าใจและเชี่ยวชาญตลอดจนรู้จักปรับเปลี่ยนแนวทางการแก้ปัญหาที่ดีกว่าเสมอ
4.การตรวจสอบและปรับปรุง  เป็นขั้นตอนการตรวจสอบผลลัพธ์ที่ได้จากการดำเนินการแก้ปัญหาว่าถูกต้องสอดคล้องกับข้อมูลเข้า  ข้อมูลออก  และวิธีการประมวลผลหรือไม่  ถ้ายังพบข้อบกพร่องต้องปรับปรุงแก้ไขให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
                การใช้ขั้นตอนที่ 4  นี้เพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ รวมถึงการเขียนหรือพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์จะช่วยให้สามารถประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี

พัฒนาโครงงานคอมพิวเตอร์(เทอม2)

พัฒนาโครงงานคอมพิวเตอร์(เทอม2)

การพัฒนาโครงงานคอมพิวเตอร์

การพัฒนาโครงงานคอมพิวเตอร์

     โครงงานคอมพิวเตอร์เป็นการนำความรู้ด้านการเขียนโปรแกรม หรือการใช้ซอฟต์แวร์ประยุกต์ เพื่อผลิตผลงานสำหรับการแก้ปัญหา หรือนำผลงานมาประยุกต์ในงานจริง การทำโครงงานจะต้องใช้ความรู้ ประสบการณ์ และการศึกษาค้นคว้า เพื่อวางแผนและดำเนินการพัฒนา โดยสามารถเลือกใช้เครื่องมือพัฒนาที่เป็นซอฟต์แวร์ประยุกต์หรือภาษาคอมพิวเตอร์ตามความเหมาะสมของชิ้นงาน ทั้งนี้ควรขอคำปรึกษาจากครูผู้สอน หรือผู้ทรงคุณวุฒิ เป้าหมายสูงสุดของการทำโครงงานคือ การนำโครงงานไปใช้งาน และก่อให้เกิดประโยชน์ในชีวิตจริง

     โครงงานคอมพิวเตอร์มีหลายประเภท ขึ้นอยู่กับมุมมองในการพิจารณา เช่น วัตถุประสงค์การนำไปใช้ หรือกระบวนการในการสร้างผลผลิต โดยทั่วไปโครงงานคอมพิวเตอร์สามารถแบ่งได้ดังนี้

     ๑.๑) สื่อเพื่อการศึกษา

                เป็นโครงงานที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการพัฒนาสื่อการเรียนการสอน โดยอาจสร้างเป็นโปรแกรมบทเรียน หรือบทเรียนออนไลน์ ที่อาจมีแบบฝึกหัดหรือคำถามเพื่อทดสอบ โครงงานประเภทนี้สามารถพัฒนาขึ้นเพื่อประกอบการเรียนการสอนในเนื้อหาวิชาต่าง ๆ เช่น บทเรียนออนไลน์เรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ บทเรียนออนไลน์เรื่องชุดกล่องสมองกล หนังสือเรียนอิเล็กทรอนิกส์เรื่องสำนวนสุภาษิต

     ๑.๒) พัฒนาเครื่องมือ

                 โครงงานพัฒนาเครื่องมือเป็นโครงงานที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการพัฒนาโปรแกรมช่วยงานด้านต่าง ๆ เช่น โปรแกรมพิมพ์งาน โปรแกรมวาดรูป โปรแกรมสร้างภาพเคลื่อนไหว โปรแกรมคำนวณภาษี

        ๑.๓) จำลองทฤษฎี โครงงานจำลองทฤษฎีเป็นโครงงานที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการพัฒนาโครงงานเพื่อจำลองการทดลองทฤษฎีในด้านต่าง ๆ เช่น การทดลองเรื่องการไหลของของเหลว การจำลองการเคลื่อนที่ตามกฎข้อที่ ๒ ของนิวตัน การจำลองการตกของวัตถุ

     ๑.๔) ประยุกต์ โครงงานประยุกต์เป็นโครงงานที่นำคอมพิวเตอร์มาประยุกต์ร่วมกับอุปกรณ์อื่นในการสร้าง หรือประดิษฐ์สิ่งของที่เป็นประโยชน์ หรือปรับปรุงเครื่องมือที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ตัวอย่างโครงงานตรวจสอบควันพิษในอากาศ โครงงานบ้านอัตโนมัติ

     ๑.๕) เกม โครงงานเกมเป็นโครงงานที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการพัฒนาโปรกรมเกมเพื่อการศึกษาเพื่อความบันเทิง โดยเกมที่พัฒนาขึ้นจะเน้นการใช้สมองในการฝึกความคิดอย่างมีหลักการ ตัวอย่างโครงงาน เช่น เกมทายคำศัพท์ ตะลุยมหันตภัยโลกร้อน

ประโยชน์ของการทำโครงงานคอมพิวเตอร์

๑) ได้เรียนรู้แนวทางการแก้ปัญหาที่เกิดจากการทำโครงงาน

๒) ส่งเสริมกระบวนการคิด การแก้ปัญหา และการตัดสินใจ

๓) ได้รับประสบการณ์ในการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อแก้ปัญหา

๔) ส่งเสริมให้ใช้เวลาอย่างเป็นประโยชน์และสร้างสรรค์

๒. ขั้นตอนการทำโครงงาน

      ๒.๑ การเลือกหัวข้อโครงงาน หัวข้อโครงงานได้มาจากความต้องการความสนใจในการแก้ปัญหา หรือประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน สังเกตสิ่งที่อยู่รอบตัว หรือศึกษาจากโครงงานที่มีผู้พัฒนาแล้วและนำแนวทางมาพัฒนาต่อ ตั้งชื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหา กระชับ น่าสนใจ ตัวอย่างหัวข้อโครงงาน เช่น

  • โครงงานเครื่องเตือนภัยน้ำท่วม

  • โครงงานเครื่องคิดเลขอัจฉริยะ

  • โครงงานตรวจสอบควันพิษในอากาศ

  • โครงงานสื่อออนไลน์พันธุ์ไม้ในโรงเรียน

      ๒. ๒ การศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลที่เกี่ยวกับโครงงาน แหล่งข้อมูลมีหลายแหล่ง เช่น หนังสือ วารสาร อินเทอร์เน็ต ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งศึกษาจากโครงงานที่คล้ายกัน ที่มีผู้พัฒนามาก่อนหน้าแล้ว ส่ิงสำคัีญคือ การอ้างอิงแหล่งที่มาและไม่คัดลอกผลงานผู้อื่น

                           เกร็ดน่ารู้  การนำข้อมูลจากเว็บไซต์ต้องพิจารณาถึงความน่าเชื่อถือของแหล่งผู้ให้ข้อมูล และควรหาข้อมูลจากหลายแหล่งแล้วทำการวิเคราะห์ข้อมูลก่อนนำไปใช้

      ๒.๓ การจัดทำข้อเสนอโครงงาน เป็นการกำหนดกรอบแนวคิด และวางแผนการพัฒนาโครงงาน รวมถึงตารางกำหนดการ ระยะเวลาที่ต้องทำงาน เพื่อช่วยให้สามารถคาดการณ์ความเป็นไปได้ในการทำโครงงาน โดยนำเสนอที่ปรึกษาหรือผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องให้ช่วยพิจารณาความเป็นไปได้ของการทำโครงงานั้น

                       สำหรับที่ปรึกษาหรือผู้ทรงคุณวุฒิ หมายถึง ผู้ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในเนื้อหาที่จะทำโครงงาน สำหรับในที่นี้ที่ปรึกษาโครงงาน คือ ครูผู้สอนรายวิชาพื้นฐาน เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และที่ปรึกษาโครงงานร่วม คือ ผู้สอนรายวิชาอื่น ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สังคมศึกษา เป็นต้น

ตัวอย่างหัวข้อข้อเสนอโครงงานคอมพิวเตอร์ ดังนี้

ข้อเสนอโครงงานคอมพิวเตอร์

ชื่อโครงงาน (ภาษาไทย)………………

ชื่อโครงงาน (ภาษาอังกฤษ)………………

ประเภทโครงงาน………..

ชื่อผู้ทำโครงงาน………….

ชื่อที่ปรึกษาโครงงาน…………

ชื่อที่ปรึกษาโครงงานร่วม…………

ระยะเวลาดำเนินงาน……….

ที่มาและความสำคัญของโครงงาน (อธิบายถึงแนวคิดและเหตุผลของการทำโครงงาน)

……………………………..

วัตถุประสงค์ (สิ่งที่ต้องการในการทำโครงงาน ระบุเป็นข้อ)

…………………………..

ขอบเขตโครงงาน (คุณลักษณะ ขอบเขต เงื่อนไข และข้อจำกัดของการทำโครงงาน)

…………………………..
หลักการและทฤษฎี (ความรู้ หลักการ หรือทฤษฎีที่สนับสนุนการทำโครงงาน)
……………………………….
วิธีการดำเนินงาน

(กำหนดแนวทางการดำเนินงาน เครื่องมือ และอุปกรณ์ งบประมาณ และขั้นตอนการปฏิบัติงาน)

แนวทางการดำเนินงาน………………..

เครื่องมือและอุปกรณ์……………….

งบประมาณ………………………….

ขั้นตอนการปฏิบัติงาน

ภาคเรียนที่……..ปีการศึกษา…………

ที่

กิจกรรม/รายการปฏิบัติ

ระยะเวลาการดำเนินการ (เดือน)

ผู้รับผิดชอบ

หมายเหตุ

ผลที่คาดว่าจะได้รับ (ผลลัพธ์ที่ต้องการให้เกิดขึ้นเมื่อสิ้นสุดการทำโครงงาน)

………………..

แหล่งอ้างอิง (เอกสารหรือแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ที่นำมาใช้ในการทำโครงงาน)

…………………………

      ๒.๔ การจัดทำโครงงาน ในขั้นตอนนี้มีการเตรียมคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ และวัสดุอุปกรณ์ให้ครบถ้วน โดยต้องคำนึงถึงความประหยัด คุ้มค่า และมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม เช่น ถ้าใช้ซอฟต์แวร์ฟรีต้องศึกษาถึงข้อกำหนดในการใช้ซอฟต์แวร์นั้นแล้วปฏิบัติตามให้ถูกต้อง แต่ถ้าใช้ซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ก็จัดหาให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อไม่ทำให้เกิดผลเสียกับตนเองและผู้อื่น

                   หลังจากจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์เรียบร้อยแล้ว ให้ดำเนินการตามตารางเวลาการทำงานอย่างเคร่งครัด ระหว่างทำโครงงานต้องบันทึกผลการทำงานเพื่อติดตามความก้าวหน้า ปัญหา อุปสรรค รวมถึงวิธีแก้ไข และควบคุมการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด มีการตรวจสอบความถูกต้องของโครงงานตามแผนการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ

      ๒.๕ การเขียนรายงาน ในขั้นตอนนี้เป็นการจัดทำเอกสาร รายละเอียดทั้งหมดในการพัฒนา และคู่มือการใช้งาน เพื่อเผยแพร่และใช้ในการพัฒนาโครงงานต่อไป เป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาหาความรู้หรือต้องการทำโครงงานที่คล้ายกัน สามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ได้บันทึกไว้ การเขียนรายงานต้องใช้ภาษาที่อ่านง่าย ชัดเจน กระชับ ตรงประเด็น ใช้ถ้อยคำสุภาพ และมีสร้างความเสียหายให้กับผู้อื่น

หัวข้อในการเขียนรายงาน มีดังต่อไปนี้

ชื่อโครงงาน (ภาษาไทย)………………

ชื่อโครงงาน (ภาษาอังกฤษ)………………

ประเภทโครงงาน………..

ชื่อผู้ทำโครงงาน

๑. …………………….
๒. ……………………

ชื่อที่ปรึกษาโครงงาน…………

ชื่อที่ปรึกษาโครงงานร่วม…………

กิตติกรรมประกาศ………………..

บทคัดย่อ………………

บทที่ ๑ บทนำ

  • ที่มาและความสำคัญของโครงงาน (อธิบายถึงแนวคิดและเหตุผลของการทำโครงงาน)

……………………………..

  • วัตถุประสงค์ (สิ่งที่ต้องการในการทำโครงงาน ระบุเป็นข้อ)

…………………………..

  • ขอบเขตโครงงาน (คุณลักษณะ ขอบเขต เงื่อนไข และข้อจำกัดของการทำโครงงาน)

…………………………..
บทที่ ๒ หลักการและทฤษฎี (ความรู้ หลักการ หรือทฤษฎีที่สนับสนุนการทำโครงงาน)
……………………………….
บทที่ ๓ วิธีการดำเนินงาน

………………

บทที่ ๔ ผลการศึกษา

…………….

บทที่ ๕ สรุปผลและข้อเสนอแนะ

……………….

บรรณานุกรม………….

คู่มือการใช้งาน…………

ลิงค์ตัวอย่างโครงงานซอฟต์แวร์

๑. โครงงานซอฟต์แวร์เรื่อง พัฒนาสื่อเพื่อการศึกษา  “ร่างกายของเรา”

๒. รายการโครงงาน

คลิปนำเสนอโครงงาน…ของโรงเรียนอื่น ๆ นะคะ ครูปอเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์เลยนำมาให้ชมกันจ้ะ
ตัวอย่างผลงานนำเสนอโครงงานของนักเรียน เยาวชนไทยค่ะ

ตัวอย่างโครงงาน